ธรรมศาสตร์ ชูกระบวนการ SID 4 ขั้นตอน หนุนเยาวชนไทยสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ปัญหาสังคม นำร่องแล้ว 12 จังหวัด

SIY-Logo-003-01

คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดงาน มหกรรมเยาวชนกับนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation and Youth Expo) เพื่อนำเสนอผลงาน นวัตกรรมทางสังคมเพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะโดยการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ภายใต้โครงการการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางสังคมเพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะโดยการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน : กรณีศึกษานำร่องสภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัด จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีเยาวชนจากสภาเด็กและเยาวชนนำร่อง 12 จังหวัด นักเรียน นิสิต นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมเมื่อวันที่17 ก.พ. ที่ผ่านมา ณ ลาน Feel Fit ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้า Future Park รังสิต

ผศ.ชานนท์ โกมลมาลย์ ผู้จัดการโครงการ ฯ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นผลจากโครงการการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางสังคมเพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะโดยการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน : กรณีศึกษานำร่องสภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัด ซึ่งได้ดำเนินงานมาเป็นเวลา 18 เดือน โดยมีเยาวชนจากสภาเด็กและเยาวชนนำร่อง 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ ยโสธร ศรีสะเกษ ระยอง ราชบุรี สมุทรสาคร กระบี่ ยะลา ปทุมธานีและกำแพงเพชร โดยค้นพบนวัตกรรมทางสังคมทั้งหมด 20 นวัตกรรม ซึ่งเป็นต้นแบบในการจัดการปัญหาในพื้นที่ ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม การสร้างจิตสำนึกแห่งการให้ และการส่งเสริมสุขภาพของคนในพื้นที่ ผ่านการใช้เครื่องมือ Social Innovation Design (SID) ที่ถูกพัฒนาขึ้นผ่านทีมนักวิจัยในโครงการเพื่อช่วยเสริมพลังให้เด็กและเยาวชนสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมและตอบโจทย์พื้นที่มากที่สุด

“รูปแบบในการดำเนินโครงงานมีความแตกต่างไปจากโครงงานอื่น ๆ คือได้ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือ สนับสนุน และ Coaching เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่กระบวนการสร้างสรรค์จนสิ้นสุดโครงการ ทำให้โครงงานนวัตกรรมทางสังคมมีอัตราความสำเร็จสูงถึง 100% ด้วยกระบวนการ SID ใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย 2) การวิเคราะห์ข้อมูล 3) การออกแบบนวัตกรรมทางสังคม และ 4) การสร้างเครือข่าย ส่งต่อแนวความคิดและต่อยอดนวัตกรรมทางสังคม” ผศ.ชานนท์ กล่าว

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ต้องการสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มีโอกาสช่วยแก้ปัญหาในชุมชน สร้างสิ่งดีๆให้ชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ กระบวนการทำงานร่วมกับเยาวชนในทุกขั้นตอนดังเช่นที่ทำในโครงการนี้ ทำให้เราเห็นว่าการทำงานแบบภาคีหุ้นส่วนร่วมกับเยาวชนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ขอเพียงเปิดใจกว้าง มองให้เห็นความสามารถและศักยภาพของเยาวชน และให้โอกาสตัวเองที่จะเรียนรู้จากการลงมือทำร่วมกับเยาวชน ในขณะเดียวกัน เมื่อน้องๆ ได้คิดค้นและลงมือออกแบบวิธีการแก้ปัญหาในชุมชนใกล้ตัวของเขา จิตสำนึกของการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจะเกิดขึ้น ตัวกระบวนการนี้จึงเป็นการร่วมสร้างพลเมืองที่มีศักยภาพให้แก่สังคมไทย สสส. อยากเห็นรูปแบบการทำงานร่วมกับเยาวชนขยายผลแพร่กระจายไปในวงกว้าง เพราะในยุคที่เรามีเด็กเกิดน้อยลง เข้าสู่สังคมสูงวัย แนวทางนี้ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตที่ดี “สังคมไทยมีกลุ่มเด็กเยาวชนกระจายอยู่เต็มทุกพื้นที่ และมีสภาเด็กและเยาวชนเป็นเสมือนพื้นที่กลางให้เด็กและเยาวชนทุกคนเข้ามาเรียนรู้จากการปฏิบัติ จึงหวังว่ากระบวนการ Social Innovation Design หรือ SID จะเป็นหนึ่งในวิธีการที่สภาเด็กและเยาวชนนำไปใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่สู่สังคมไทยต่อไป ” นางสาวณัฐยา กล่าว