Youth Innovation

จากบอร์ดเกมสู่การถอดบทเรียน (Game-based Learning)

จากบอร์ดเกมสู่การถอดบทเรียน (Game-based Learning)

จากบอร์ดเกมสู่การถอดบทเรียน (Game-based Learning)

“จากบอร์ดเกมสู่การถอดบทเรียน (Game-based Learning)”

โดย “เทอร์โบ – วรุตม์ นิมิตยนต์” จาก Deschooling Game – by เถื่อนเกม

ผู้เข้าร่วมเวที PLC Education Roundtable วันที่ 4 – 6 เมษายน 2562 เวทีที่ชวนคนในและนอกระบบที่ทำงานพัฒนาการศึกษาไทยมา “ป้ายยา” ไปก่อความสุขร่วมสร้าง


“Game-based Learning” เป็นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการเล่นเกม ที่ทำหน้าที่จำลองสถานการณ์ (Simulation) เพื่อให้ผู้เล่นได้สัมผัสประสบการณ์ต่าง ๆ แล้วจึงใช้การถอดบทเรียนหลังการเล่น เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนจะเชื่อมโยงประสบการณ์เหล่านั้นสู่สถานการณ์จริง (Authentic Learning) เพื่อให้เกิดการคิดต่อยอด เชื่อมโยง รวมถึงการคิดวิธีการแก้ปัญหาในชีวิตจริง

“เทอร์โบ – วรุตม์ นิมิตยนต์” จาก Deschooling Game ได้ใช้ช่วงเวลาของการปล่อยของ ในการจัดกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้ลองสัมผัสประสบการณ์ข้างต้น พร้อมเรียนรู้กลไกการถอดบทเรียนเพื่อตกผลึกองค์ความรู้ นำไปสู่การขบคิดประเด็นโจทย์ที่ตั้งไว้

เกมที่หยิบยกมาให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลองเล่น คือ “Spyfall” ที่โดดเด่นในเรื่องกลไกการสื่อสาร การตัดสินใจเดินเกม การเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ รวมถึงการตัดสินผู้อื่นในชีวิตจริง หลังจากการเล่นเกมเทอร์โบจึงได้ชวนถอดบทเรียนจาก 3 ชุดคำถาม

คำถามแรกและคำถามที่สองเพื่อการวิเคราะห์เกม (Analysis) “เห็นอะไรจากการสื่อสารในตอนเล่นเกมเมื่อสักครู่?” และ “ตอนที่เราเล่น จังหวะที่เราคาดเดา Spy ผิด คิดว่าเกิดจากอะไร?”

คำถามที่สามเพื่อการสังเคราะห์ข้อคิดเชื่อมโยงสู่สถานการณ์จริง (Synthesis) “ในชีวิตจริงเราเคยมีความผิดพลาดลักษณะนี้เกิดขึ้นหรือไม่?”

และอีกสองคำถามทิ้งทายเชื่อมโยงไปสู่โจทย์ที่เป็นธงในการพูดคุยนอกเหนือไปจากเนื้อหาภายในเกม เป็นการชวนพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ (Review) “ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ประเด็นข้อคิดจากเกมมีความเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง?” และ “ถ้าจะให้การเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นไปด้วยดีกว่านี้ คิดว่าควรจะต้องทำอะไร?”

โดยเทอร์โบได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ทุกเกมสามารถชวนพูดคุยถอดบทเรียนเชื่อมโยงประสบการณ์เหล่านั้นสู่การเรียนรู้จากสถานการณ์จริง (Authentic Learning) ได้ โดยหากยังไม่มีธงในการเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นการเรียนรู้ใหม่ ก็สามารถชวนพูดคุยจากบทเรียนที่เกิดขึ้นภายในเกมได้เช่นกัน

หากคุณเริ่มสนใจอยากลองทำกิจกรรมนี้บ้าง เริ่มต้นทำตามขั้นตอนใน Infographic ประกอบได้เลยค่ะ ☺️☺️

ผู้ที่จะทำกระบวนการ “Game-based Learning” ให้เริ่มจากทดลองเล่นเกมที่หลากหลาย (หรือเกมที่มีอยู่) เพื่อสังเกตกลไกและเนื้อหาของเกม รวมถึงสังเคราะห์และวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งจากตัวเกมและการเชื่อมโยงสู่ประเด็นภายนอก ก่อนจะเลือกเกมและประเด็นการเรียนรู้ที่ตั้งธงไว้ไปทดลองจัดกระบวนการจริง

จัดวงเล่นเกมกับกลุ่มเป้าหมายแล้วสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเล่นเกม ทั้งการเล่นตามกลไกและเนื้อหาของเกม และรูปแบบการเล่นที่เกิดขึ้นในการเล่นรอบนั้น รวมถึงการพูดคุยและการสื่อสารในขณะเล่นเกม

ชวนพูดคุยจากเกมสู่โจทย์เป้าหมาย เป็นการถอดบทเรียนหลังการเล่นเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วเชื่อมโยงประสบการณ์เหล่านั้นสู่การเรียนรู้จากสถานการณ์จริง (Authentic Learning) เพื่อให้เกิดการคิดต่อยอด เชื่อมโยง รวมถึงการคิดวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง

3 ชุดประเด็นคำถาม ที่แนะนำให้นำไปใช้ในการถอดบทเรียน คือ คำถามเพื่อการวิเคราะห์เกม (Analysis) คำถามเพื่อสังเคราะห์ข้อคิดเชื่อมโยงไปสู่สถานการณ์จริง (Synthesis) และคำถามเพื่อชวนพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ (Review) นำไปสู่การคิดต่อยอด เชื่อมโยง รวมถึงการคิดวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง


โครงการ “ก่อการครู ก่อการสังคม : ชุมชนการเรียนรู้ผู้นำการศึกษารุ่นใหม่ (PLC Education Roundtable)”

วันที่ 4 – 6 เมษายน 2562 ณ ศูนย์ฝึกอบรมงานอภิบาล “บ้านผู้หว่าน” อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

ที่มา : โครงการผู้นำแห่งอนาคต Leadership for the Future Facebook Page